การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกระแสเกาหลี หรือที่รู้จักกันว่า ฮันยู๋ (Hallyu) เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 หมายความถึงกระแสความนิยมเกาหลีที่ค่อยๆ คืบคลานมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์ที่เหนือความคาดหมายของนักวิชาการหรือบรรดาสื่อมวลชน เพราะเป็นปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมข้ามชาติที่ข้ามพ้นอิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมของชาติมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ในโลกยุคดิจิตอล
กระแสเกาหลีเป็นเรื่องเกี่ยวกับความนิยมชมชอบทางวัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลี (Korean Pop Culture) ที่ผ่านเข้ามาทั้งทางภาพยนตร์โทรทัศน์, ภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์, เพลงป๊อป รวม ไปถึงเหล่าดารานักร้องจากประเทศเกาหลี
ในปี ค.ศ.1999 Shiri เป็นภาพยนตร์เกาหลีเรื่องแรกที่สามารถสร้างความสำเร็จภายนอกประเทศทั้งในญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน นับเป็นก้าวแรกที่เกาหลีเิริ่มมีอิทธิพลในวงการบันเทิงของเอเชีย และสร้างกระแสเกาหลี หลังจากนั้นเกาหลียังผลิตภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน อาทิ JSA, Friend, Silmido และ Taegukgi
คลื่นกระแสเกาหลีที่โถมใส่เอเชียลูกต่อมา และสามารถรุกเข้ามาสู่ประเทศไทยได้ คือ ภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ หรือที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อ ซีรีส์เกาหลี นับแต่ละครเกาหลีเรื่องแรก Wish Upon a Star หรือ ลิขิตแห่งดวงดาว, รักนี้ชั่วนิรันดร์ หรือ Autumn in my heart , เพลงรักในสายลมหนาว Winter Love Song , แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง มาจนถึง Full House สะดุดรักที่พักใจ และ Princess Hours เจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา กลายเป็นจุดที่สร้างอิทธิพลต่อความชื่นชมกระแสเกาหลี ทั้งในเนื้อเรื่อง วิวทิวทัศน์ และตัวพระเอก - นางเอก ที่เป็นคนเกาหลี ได้มากกว่าสื่ออื่นๆ ทั่วทั้งทวีปเอเชีย
ภาพยนตร์ชุด Winter Love Song ได้รับความนิมสูงสุดในกลุ่มของแม่บ้านญีุ่ปุ่นช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และทำให้ดารานำแสดงฝ่ายชาย เบ ยอง จุน แจ้งเกิดในประเทศญี่ปุ่น มีการจัดนำเที่ยวตามรอยภาพยนตร์กันอย่างแพร่หลาย ขณะที่ แดจังกึม เรื่องราวตามเกร็ดประวัติศาสตร์เกาหลีเกี่ยวกับความสำเร็จของสตรีในยุคโชซอนประมาณ 500 ปีก่อน ซึ่งผู้ชายเป็นใหญ่ เธอสามารถเป็นหมอหลวงที่เป็นผู้หญิงคนแรกในวังหลวงได้ สร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหารเกาหลีและยาสมุนไพรไปทั่วเอเีีชีย นักท่องเที่ยวหลายคนอยากจะเดินทางมาท่องเที่ยวเกาหลีเพื่อจะได้มาดูฉากพระราชวังเคียงบกกุงในภาพยนตร์ดังกล่าว
ด้านวัฒนธรรมเพลง วงดนตรีเกาหลีเริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นในจีนและได้หวันนับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 สถานีโทรทัศน์ในเกาหลีไม่สามารถผลิตรายการดนตรีที่มีคุณภาพหรือมากพอเพื่อรับกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ วงดนตรีเกาหลีจึงหันมารุกเข้าสู่ตลาดเอเชีย เพื่อสร้างวงดนตรีเกาหลีเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากวงดนตรีป๊อปจากตะวันตก หรือญีุ่ปุ่น
วงบอยแบนด์เกาหลียุคบุคเบิก H.O.T. ติดอันดับอัลบั้มขายดีในเอเชีย ตามด้วยศิลปินเพลงทั้งเป็นวงดนตรี และตัวบุคคล อาทิ NRG SES , Baby Vox , เรน มาถึงรุ่นใหม่อย่าง ดงบังชินกิ , ซูเปอร์จูเนียร์ (Super Junior) และ วันเดอร์เกิร์ล ( Wonder Girls ) ว่ากันว่า ความสำเร็จของวงบอยแบนด์หรือเกิร์ลแบนด์เกาหลี มาจากรูปร่างหน้าตาที่ดูสดใสและน่ารัก ดูเป็นเด็กสามารถเต้นรำได้เก่ง ขณะที่คุณภาพในการร้องกลายเป็นเรื่องรอง
กระแสเกาหลีที่สามารถแพร่ขยายไปทั่วทวีปเอเชียนั้ืน เกิดจากการดำเนินงานโดยภาครัฐเป็นผู้กำหนดแนวนโยบายและสนับสนุนเงินทุนในเบื้องต้น และขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน
วัฒนธรรมเกาหลีถูกแทรกแซงโดยวัฒนธรรมตะวันตกหลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลี ช่วงปี ค.ศ. 1945-1980 เกาหลีได้สร้างวัฒนธรรมขึ้นใหม่เพื่อปกป้องตนเองจากวัฒนธรรมอเมริกัน โดยให้ความสำคัญกับการค้นหาตัวตนหรือเอกลักษณ์ของชาติและมรดกทางวัฒนธรรม รัฐบาลเป็นผู้ควบคุมและออกกฏระเบียบ วางรากฐานทางด้านกฏหมาย กองทุน สถาบันการศึกษา ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1981-1992 รัฐบาลได้เพิ่มการส่งเสริมทางด้านศิลปะทั้งแบบดั้เงเดิมและร่วมสมัย พร้อมวางแนวนโยบายแผนหลักทางวัฒนธรรม 10 ปี โดยเน้นวัฒนธรรมเพื่อปวงชนทั้งมวล เมื่อเข้าสู่ปี ค.ศ. 1993 รัฐบาลเปลี่ยนบทบาทใหม่เป็นการส่งเสริมมากกว่าการควบคุม ด้วยเห็นว่าวัฒนธรรมสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
จนถึงปี ค.ศ. 1998 รัฐบาลเกาหลีได้ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น โดยรวมเรียกว่าอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ประกอบด้วยอุตสาหกรรมย่อย อาทิ ภาพยนตร์ เพลง วีดีโอ สิ่งพิมพ์ การกระจายเสียง การออกแบบ ตัวการ์ตูน ความบันเทิงที่ให้ความรู้ (Edutainment) และวางวิสัยทัศน์ทางวัฒนธรรมเข้าสู่สังคมดิจิตอล วัฒนธรรมในบริบทนี้จึงเป็นวัฒนธรรมที่หลากหลายและเป็นวัฒนธรรมในเชิงโลกาภิวัตน์ ส่งเสริมให้วัฒนธรรมเกาหลีสามารถแข่งขันได้ในกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเชื่อว่า วัฒนธรรมเกาหลีมีเอกลักษณ์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในส่วนนี้
ในปี ค.ศ. 1999 รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ. ส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ทำให้เกิดมีองค์การมหาชนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ เช่น สถาบันส่งเสริมและพัฒนาเกาหลี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีศูนย์วิจัยทางวัฒนธรรม สถาบันการศึกษาเทคโนโลยีทางวัฒนธรรม ความสำเร็จของอุตสาหกรรม วัฒนธรรม (Culture Content) เป็น 1 ใน 7 สาขาที่มีศักยภาพในการเติบโตในอีกสิบปีข้างหน้า โดยอยู่ในวิสัยทัศน์อุตสาหกรรมเกาหลี ปี ค.ศ. 2020 และประมาณว่าในปี ค.ศ. 2030 ประเทศเกาหลีจะสามารถส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมเป็นมูลค่ากว่า 13,761 ล้านเหรียญสหรัฐ และเกิดการจ้างงานประมาณ 1,604,888 คน
Link : http://korea-center.blogspot.com/
Appreciated for : http://www.kodhit.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น